โรค Alopecia Areata ผมร่วงเป็นหย่อมคืออะไร รักษาได้หรือไม่

PRP hair

จากข่าวสะท้านวงการฮอลลีวูดที่มีสาเหตุมาจากโรค Alopecia Areata ที่ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ทำให้หลายๆคนสงสัยว่าโรคนี้คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และรักษาได้หรือไม่

 

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) คืออะไร

พยาธิสภาพโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) คือ การอักเสบภายใต้หนังศีรษะ ซึ่งไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร หลังจากโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ แม้โรคนี้ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็มีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ความสวยงามและส่งผลกระทบต่อจิตใจแก่ผู้ป่วยได้มาก

สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

    • Alopecia areata (AA) : ผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงตามคิ้ว หนวดเคราขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว
    • Alopecia totalis (AT) : ผมบริเวณศีรษะร่วงทั้งหมด
    • Alopecia universalis (AU) : ผมบริเวณศีรษะและตามตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด มีความรุนแรงมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด

 

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เกิดกับใครได้บ้าง

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) สามารถเกิดได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิงเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยที่พบโรคนี้คือประมาณ 30 ปี ผู้ที่ป่วยเป็นโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เกิดขึ้นเฉลี่ย 1 ใน 1000 คน

ลักษณะอาการของโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เป็นอย่างไร

  • มีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง
  • อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ปกติมักเกิดภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
  • อาจมีอาการคันหรือแสบในบริเวณที่จะเกิดก่อนที่จะมีอาการผมร่วง
  • ส่วนใหญ่เกิดที่ศีรษะ แต่ก็สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ที่มีขนได้ เช่น คิ้ว หนวด รักแร้ หัวหน่าว
  • อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ โดยเส้นผมจะสั้นดูคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์
  • ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บมือและเล็บเท้าได้ด้วย เช่น เล็บมีรอยบุ๋ม เล็บมีจุดขาว เล็บมีเส้นขาว หน้าเล็บขรุขระ เล็บไม่เงา เล็บบาง เล็บเปราะฉีกขาด ในบางกรณี อาจทำให้เล็บเปลี่ยนรูปทรง หรือทำให้เล็บหลุดได้ด้วย

PRP hair

อะไรคือสาเหตุของโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม)

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน หากโรคสงบลงแล้วรูขุมขนยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ โรคที่อาจพบร่วมกับโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว ภูมิแพ้

20% ของผู้ป่วยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน ปัจจัยทางพันธุกรรมจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้

สามารถวินิจฉัยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ได้อย่างไร ?

สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจลักษณะของผมร่วง ถ้าลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

  • PRP hair

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) สามารถรักษาได้หรือไม่

ผู้ป่วยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ที่มีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะสามารถหายได้เอง ส่วนผู้ป่วยที่มีผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง การรักษาขึ้นกับอายุและความกว้างของหย่อมผมที่ร่วง โดยวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้

  • การรักษาเฉพาะที่ ทั้งการฉีดยาและ PRP เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหย่อมผมร่วงที่ไม่กว้างมากนัก เป็นการรักษาที่ให้ผลดี เนื่องจากความเข้มข้นของการรักษาเข้าถึงบริเวณรากผมมากกว่าการทายา โดยเฉพาะ PRP ช่วยลดการอักเสบและกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวได้อย่างปลอดภัย
  • การทายาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ที่มีผมร่วงเล็กน้อย ควรเลือกใช้ยาที่เป็นรูปแบบน้ำหรือโลชั่น
  • การรับประทานยา มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง และมีผลข้างเคียงมาก ควรใช้เป็นการรักษาเสริมดีกว่าทานยาอย่างเดียว

ทั้งนี้การรักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะ มีผื่นที่บริเวณอื่นของร่างกาย ขนดก เป็นรอยขาวหรือรอยดำที่หนังศีรษะ บริเวณที่ทายาหรือยาบางชนิดมีผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแดง

โรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) สามารถรักษาได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่หายขาด คนที่มีผมร่วงน้อยมักตอบสนองการรักษาดีกว่าคนผมร่วงมาก

ผู้ป่วยโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) ควรดูแลตนเองอย่างไร

  • มารับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคนี้การรักษาอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปีและยังมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก
  • ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งและควรระมัดระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา
  • ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงอันตราย
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ภาวะเจ็บป่วยหรือความเครียดอาจทำให้โรคกำเริบได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ เพราะอาหารมีผลต่อสุขภาพผม ไม่มีอาหารใดที่ห้ามรับประทานในคนที่เป็นโรคนี้
  • ถ้าผู้ป่วยมียาประจำตัวหรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

เมื่อเรารู้จักและเข้าใจโรคนี้แล้ว ก็ไม่ควรล้อเลียนหรือวิจารณ์รูปลักษณ์ของผู้อื่นซึ่งถือเป็นการ Body Shaming อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะคงไม่มีใครอยากโกนศีรษะตัวเองให้สูญเสียความมั่นใจเช่นกัน