knee noise

เสียงหัวเข่าลั่นอันตรายหรือไม่

หากคุณขยับหัวเข่า หรือ เหยียดงอเข่า แล้วหัวเข่าลั่น มีเสียงในเข่าดังกร๊อบแกร๊บ ต้องระวังไว้ให้ดี เพราะเสียงหัวเข่าลั่นนั้นแบ่งได้เป็น 2 กรณี

1. เข่ามีเสียงแต่ไม่เจ็บ ถือว่าไม่อันตรายเพราะกรณีนี้เกิดจากการสะสมของแก๊สบริเวณรอบข้อเข่า เมื่อเราขยับหัวเข่า หรือเหยียดงอเข่า ฟองอากาศในน้ำข่อเข่าที่รวมตัวกันจะเกิดการแตกออก เนื้อเยื่อรอบๆเข่าและกระดูกอ่อนเข้าที่กัน ทำให้เกิดเป็นเสียงในข้อเข่า หรือ หัวเข่าลั่นได้นั่นเอง ( คล้ายๆ กับเวลาที่เราดัดคอดัดนิ้วมือแล้วมีเสียงลั่นนั่นเอง )

 

2.  แต่หากคุณมีอาการเข่าลั่นและปวดเจ็บหัวเข่าร่วมด้วยเวลาเดิน งอเหยียดหรือลงน้ำหนักผ่านหัวเข่า นั่นแปลว่า คุณอาจเป็นโรคดังต่อไปนี้

2.1 กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ เรียกได้ว่าเป็นภาวะเริ่มต้นของโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of knee) การอักเสบผุกร่อนบางลงของกระดูกอ่อนที่ช่วยรักษาความยืดหยุ่นของเข่าทำให้เราปวดเจ็บหัวเข่าเวลาเดิน มีเสียงในเข่า หากไม่เริ่มรักษาและปล่อยไว้อาจพัฒนาไปจนถึงขั้นเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้

2.2 ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of knee)กรณีนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างเรื้อรัง เกิดจากกระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อมสภาพลงเป็นเวลานาน ทำให้น้ำไขข้อ ที่หล่อเลี้ยงภายในเข่าลดน้อยลง กระดูกเสียดสีกัน

เกิดแรงกดเบียดทับกันมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการปวดเจ็บบริเวณข้อต่อและขยับข้อต่อได้ลำบาก หัวเข่าลั่นง่าย  ข้อเข่าติด ฝืดแข็ง หากไม่รีบรักษา อาจทำให้ข้อเข่าผิดรูปเดินไม่ได้ จนถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียม

2.3 หมอนรองกระดูกฉีกขาด (Meniscus Tear) มักเกิดจากอุบัติเหตุรถชน เล่นกีฬา หกล้ม เข่างอบิดหมุนหรือผิดท่าผิดจังหวะ รวมถึงการเล่นกีฬาที่หัวเข่าถูกกระแทกอย่างรุนแรงรวดเร็ว จนทำให้หัวเข่าบาดเจ็บ 

หมอนรองกระดูกที่ฉีกขาดเผยอขึ้นมาอาจเข้าไปขัดเสียดสีกับกระดูกทำให้เวลาขยับข้อเข่าเกิดการติดขัดและเจ็บปวด

ในกรณีนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน อย่าปล่อยไว้นาน อาการจะยิ่งแย่ลง

 

ในกรณี กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม ในระยะแรกๆ เราสามารถใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นรักษาร่วมกับกายภาพบำบัดและการปรับพฤติกรรมจะได้ผลดีมากๆและประหยัดกว่า เสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าหลายเท่า

ดังนั้น  หากคุณมีอาการหัวเข่าลั่น หัวเข่ามีเสียง ไม่ว่าจะเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ตาม เราอยากแนะนำให้คุณปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยนะคะ

  • ไม่ยกของหนัก เพราะจะทำให้หัวเข่า แบกรับน้ำหนักมากจนเกิดอาการปวดเข่าสะสม จนกลายเป็นข้อเข่าเสื่อมได้
  • ไม่นั่งพับเพียบ คุกเข่า นั่งยองๆ หรือนั่งขัดสมาธิ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องนั่งนานจริงๆ ควรเปลี่ยนท่าบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้ปวดเมื่อยขาก่อน
  • ใช้ไม้ถูพื้นแทนการคุกเข่าถูพื้น หาเก้าอี้มานั่ง แทนการนั่งยองๆ
  • ไม่ยืนนิ่งนานๆ ควรมีการยืดเหยียดขา เดินไปเดินมาบ้าง
  • หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงนานๆ
  • เลือกเก้าอี้ทำงานแบบมีที่รองแขน เพราะเวลาลุกยืนเราจะใช้แขนช่วยพยุงตัวเราขึ้นมาได้
  • รักษาน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ เดินเร็ว หรือ ปั่นจักรยาน เพื่อเสริมความแข็งแรง ของข้อเข่า อย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงกีฬา ที่ต้องใช้แรงขา และ เสี่ยงต่อแรงกระแทก เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล เทนนิส รักบี้ สเก็ตบอร์ด
  • รับประทานอาหารบำรุงกระดูก ที่มีแคลเซียม และ คอลลาเจนสูง เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ มะเขือเทศ ปลาแซลมอน ฝรั่ง เป็นต้น
  • รับประทานยาบรรเทาเมื่อมีอาการ และลดการอักเสบด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น

PRP